วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จนท.ป่าไม้สกัดนักข่าวทำข่าวตรวจรุกป่าวังน้ำเขียว





เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ สกัดนักข่าวกรณีรองอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้รับผิดชอบปฏิบัติการตรวจสอบพื้นที่วังน้ำเขียว หลังอธิบดีกรมป่าไม้สั่งเช็คบิลนายทุนรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ อ้างรองอธิบดีฯไม่ขอให้สัมภาษณ์พร้อมระบุหากนักข่าวยังอยู่จะไม่ยอมลงพื้นที่

(13 ก.ค.54) ที่หน่วยป้องกันรักษาป่านครราชสีมา ที่ 4 (ภูหลวง) ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่านครราชสีมา ที่ 4 ประมาณ 50 คน ได้เดินทางไปรอรับคณะของนายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมป่าไม้

ที่มีกำหนดการจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมีบรรดาผู้สื่อข่าวจากสำนักต่างๆในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เดินทางไปรอทำข่าวและขอสัมภาษณ์ถึงแนวทางการจัดการปัญหากรณีที่ทางอธิบดีกรมป่าไม้ ได้มอบหมายให้นายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้รับผิดชอบในปฏิบัติการตรวจพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว

หลังจากที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาว่ามีกลุ่มนายทุนไปบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเพื่อสร้างเป็นรีสอร์ทที่พัก และให้นายเริงชัยฯ ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ภาพถ่ายและหลักฐานต่างๆในพื้นที่มาสรุปและร่วมวางแผนการดำเนินการจัดระเบียบในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวภายใน 15 วัน

เจ้าหน้าที่นายหนึ่ง ระบุว่า รองอธิบดีกรมป่าไม้ มีกำหนดเดินทางมาตรวจเยี่ยมที่หน่วยป้องกันรักษาป่านครราชสีมา ที่ 4 ในเวลา 11.00 น. แต่ได้เลื่อนไปกระทันหันเป็นเวลา 15.00 น.

กระทั่งเวลา 15.00 น.ได้มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งแจ้งผู้สื่อข่าวว่า รองอธิบดีได้ติดต่อมาว่าไม่ต้องการที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆในช่วงนี้ เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด ซึ่งข้อมูลทั้งหมดมีอธิบดีกรมป่าไม้เพียงคนเดียวที่จะให้ข้อมูลได้ จึงขอให้ผู้สื่อข่าวกลับออกไป เนื่องจากหากผู้สื่อข่าวยืนยันว่าจะรอคอยดักสัมภาษณ์รองอธิบดีกรมป่าไม้ ตัวของรองอธิบดีกรมป่าไม้เองก็จะไม่ขอเข้ามาในพื้นที่ แต่ผู้สื่อข่าวยืนยันที่จะขอรอฟังคำปฏิเสธจากปากของรองอธิบดีเอง

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวที่มีกระแสข่าวว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบมีอยู่ 3 หน่วยงานหลัก คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งดูแลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีอาณาเขตติดกันอยู่ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ส่วนกรมป่าไม้ ดูแลในพื้นที่อนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ
ส่วนสำนักงานปฏิรูปที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.ดูแลในพื้นที่ป่าสงวนที่เสื่อมโทรมและถูกโอนถ่ายให้ทาง ส.ป.ก.ดูแล

และในขณะนี้การดำเนินการตรวจสอบของทุกหน่วยงานกำลังอยู่ในระหว่างการสำรวจและจำแนกว่า พื้นที่ที่มีการบุกรุกอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด เพื่อที่จะให้หน่วยงานนั้นๆเป็นผู้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า หลังจากรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ก็จะมีการประสานงานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์วังน้ำเขียวในการแก้ไขปัญหาและสร้างกฏเกณฑ์ขึ้นมาร่วมกันอีกครั้ง โดยอาจจะมีกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นผู้เปิดประเด็นในเรื่องนี้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งหากยุทธศาสตร์เรื่องนี้ชัดเจนแล้วก็จะแถลงประชาสัมพันธ์ต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว แบ่งการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 1,230 ตารางกิโลเมตร โดยแยกเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ประมาณ 15 % พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ประมาณ 10 % พื้นที่เขตอนุรักษ์ประมาณ 20 % ส่วนที่เหลืออีก 55 % เป็นที่ดินที่ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( สปก.) และพื้นที่ที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ( พบท.5 ) ทั้งหมด

ปัจจุบันพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ถูกจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม ที่มีระดับอากาศโอโซนบริสุทธิ์อยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ปัจจุบันสถานที่พักในอำเภอวังน้ำเขียวมีมากกว่า 500 แห่ง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้วันละประมาณ 25,000 คน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน 2 ตำบล คือ ตำบลวังน้ำเขียว และ ต.ไทยสามัคคี

เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามและมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติจำนวนมาก โดยในช่วงฤดูหนาวจะถูกนักท่องเที่ยวจองสถานที่พักเต็มยาวไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสะพัดกว่า 1,000 ล้านบาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น