วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

จนท.ป่าไม้สกัดนักข่าวทำข่าวตรวจรุกป่าวังน้ำเขียว





เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ สกัดนักข่าวกรณีรองอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้รับผิดชอบปฏิบัติการตรวจสอบพื้นที่วังน้ำเขียว หลังอธิบดีกรมป่าไม้สั่งเช็คบิลนายทุนรุกที่ป่าสงวนแห่งชาติ อ้างรองอธิบดีฯไม่ขอให้สัมภาษณ์พร้อมระบุหากนักข่าวยังอยู่จะไม่ยอมลงพื้นที่

(13 ก.ค.54) ที่หน่วยป้องกันรักษาป่านครราชสีมา ที่ 4 (ภูหลวง) ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ เจ้าหน้าที่จากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่านครราชสีมา ที่ 4 ประมาณ 50 คน ได้เดินทางไปรอรับคณะของนายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมป่าไม้

ที่มีกำหนดการจะเดินทางมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมีบรรดาผู้สื่อข่าวจากสำนักต่างๆในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เดินทางไปรอทำข่าวและขอสัมภาษณ์ถึงแนวทางการจัดการปัญหากรณีที่ทางอธิบดีกรมป่าไม้ ได้มอบหมายให้นายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้รับผิดชอบในปฏิบัติการตรวจพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว

หลังจากที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาว่ามีกลุ่มนายทุนไปบุกรุกที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเพื่อสร้างเป็นรีสอร์ทที่พัก และให้นายเริงชัยฯ ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ภาพถ่ายและหลักฐานต่างๆในพื้นที่มาสรุปและร่วมวางแผนการดำเนินการจัดระเบียบในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวภายใน 15 วัน

เจ้าหน้าที่นายหนึ่ง ระบุว่า รองอธิบดีกรมป่าไม้ มีกำหนดเดินทางมาตรวจเยี่ยมที่หน่วยป้องกันรักษาป่านครราชสีมา ที่ 4 ในเวลา 11.00 น. แต่ได้เลื่อนไปกระทันหันเป็นเวลา 15.00 น.

กระทั่งเวลา 15.00 น.ได้มีเจ้าหน้าที่รายหนึ่งแจ้งผู้สื่อข่าวว่า รองอธิบดีได้ติดต่อมาว่าไม่ต้องการที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆในช่วงนี้ เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด ซึ่งข้อมูลทั้งหมดมีอธิบดีกรมป่าไม้เพียงคนเดียวที่จะให้ข้อมูลได้ จึงขอให้ผู้สื่อข่าวกลับออกไป เนื่องจากหากผู้สื่อข่าวยืนยันว่าจะรอคอยดักสัมภาษณ์รองอธิบดีกรมป่าไม้ ตัวของรองอธิบดีกรมป่าไม้เองก็จะไม่ขอเข้ามาในพื้นที่ แต่ผู้สื่อข่าวยืนยันที่จะขอรอฟังคำปฏิเสธจากปากของรองอธิบดีเอง

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าว เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียวที่มีกระแสข่าวว่ามีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาตินั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบมีอยู่ 3 หน่วยงานหลัก คือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งดูแลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีอาณาเขตติดกันอยู่ในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว ส่วนกรมป่าไม้ ดูแลในพื้นที่อนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ
ส่วนสำนักงานปฏิรูปที่ดินทำกินเพื่อการเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.ดูแลในพื้นที่ป่าสงวนที่เสื่อมโทรมและถูกโอนถ่ายให้ทาง ส.ป.ก.ดูแล

และในขณะนี้การดำเนินการตรวจสอบของทุกหน่วยงานกำลังอยู่ในระหว่างการสำรวจและจำแนกว่า พื้นที่ที่มีการบุกรุกอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด เพื่อที่จะให้หน่วยงานนั้นๆเป็นผู้ดำเนินการแก้ไข ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า หลังจากรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ก็จะมีการประสานงานร่วมกันระหว่าง 3 หน่วยงาน เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์วังน้ำเขียวในการแก้ไขปัญหาและสร้างกฏเกณฑ์ขึ้นมาร่วมกันอีกครั้ง โดยอาจจะมีกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นผู้เปิดประเด็นในเรื่องนี้เป็นเจ้าภาพ ซึ่งหากยุทธศาสตร์เรื่องนี้ชัดเจนแล้วก็จะแถลงประชาสัมพันธ์ต่อสื่อมวลชนอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับ พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว แบ่งการปกครองออกเป็น 5 ตำบล 83 หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 1,230 ตารางกิโลเมตร โดยแยกเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ประมาณ 15 % พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ประมาณ 10 % พื้นที่เขตอนุรักษ์ประมาณ 20 % ส่วนที่เหลืออีก 55 % เป็นที่ดินที่ที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ( สปก.) และพื้นที่ที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ ( พบท.5 ) ทั้งหมด

ปัจจุบันพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ถูกจัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และสวยงาม ที่มีระดับอากาศโอโซนบริสุทธิ์อยู่ในอันดับที่ 7 ของโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทย ปัจจุบันสถานที่พักในอำเภอวังน้ำเขียวมีมากกว่า 500 แห่ง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้วันละประมาณ 25,000 คน ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน 2 ตำบล คือ ตำบลวังน้ำเขียว และ ต.ไทยสามัคคี

เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศที่สวยงามและมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติจำนวนมาก โดยในช่วงฤดูหนาวจะถูกนักท่องเที่ยวจองสถานที่พักเต็มยาวไปจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี มีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสะพัดกว่า 1,000 ล้านบาท

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ฟื้น"ไม้หมายเมือง" เชียงใหม่ ปลูกสำนึกรักถิ่น

ใน จ.เชียงใหม่ ต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า 'ไม้หมายถิ่น, ไม้หมายทาง' มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีจำนวนลดลงและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง จากข้อมูลของมูลนิธิไทยรักษ์ป่าทำให้รู้ว่า ไม้หมายถิ่นในที่สาธารณะ ต้นไม้ใหญ่ๆ ไม้ที่เติบโตมาพร้อมกับประวัติศาสตร์เมืองเหนือแห่งนี้จะถูกตัดโค่นแหลกราญ จากการขยายตัวของสังคมเมือง การตัดขยายถนน และการปรับภูมิทัศน์
แต่ในช่วง 5 ปีหลัง คนเชียงใหม่ต่อต้านการตัดต้นไม้หมายถิ่น ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวม พร้อมกับช่วยกันปลูกพรรณไม้ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งก็สร้างความร่มรื่นให้เมืองและเพิ่มพื้นที่สีเขียวดูดซับก๊าซคาร์บอน กรองฝุ่น ควันพิษ และลดภาวะโลกร้อน ยิ่งไปกว่านั้นต้นไม้สองข้างทางยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ร้อยรัดกับชุมชนเอาไว้
ในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนที่ผ่านมา มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ภายใต้การสนับสนุนการดำเนินงานโดย เอ็กโก กรุ๊ป ร่วมกับกรมทางหลวงชนบท และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ จัด "โครงการอนุรักษ์ไม้หมายเมือง" ปีที่ 4 ณ แยกเชียงขางแสงงาม ต.ท่าศาลา อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อปลุกกระแสอนุรักษ์ไม้หมายถิ่น วิธีการ คือ ให้คนเมืองปลูกต้นไม้หมายถิ่นกับมือ เพื่อปลูกจิตสำนึกให้ชุมชนรู้จักต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ไม่ทำลายและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปในตัว ถือเป็นกิจกรรมปลุกสำนึกรับวันสิ่งแวดล้อม โดยมี พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี ประธานอำนวยการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า และ ดร.เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน เยี่ยมชมนิทรรศการที่จัดขึ้น พร้อมปลูกต้นราชพฤกษ์ ไม้มงคลสัญลักษณ์ประจำชาติไทย และทองกวาว พันธุ์ไม้พระราชทานเป็นมงคล จ.เชียงใหม่
สำหรับต้นไม้ที่ปลูกคราวนี้ เป็นไม้หมายถิ่นและต้นไม้มงคล 5 ชนิด จำนวน 100 ต้น ประกอบด้วย ราชพฤกษ์ ทองกวาว โดยเฉพาะสารภีป่า ไม้หมายถิ่นของ อ.สารภี ไม้มงคลที่มีอายุยืนนาน กระพี้จั่น ไม้ป่าที่มีดอกสวยงาม จัดเป็นไม้หมายถิ่นของชุมชนดอนจั่น และรวงผึ้ง ไม้หมายถิ่นชุมชนหนองผึ้ง โดยมีชุมชนใกล้เคียง หน่วยงานราชการ เยาวชนคนรุ่นใหม่ และภาคีเครือข่ายสิ่งแวดล้อมเข้าร่วมกิจกรรม ก่อนหน้านี้เคยปลูกต้นพะยอมที่สี่แยกตลาดต้นพะยอม และวัดสวนดอก รวมถึงปลูกไม้แดงและไม้ในพุทธประวัติบริเวณวัดป่าแดงมหาวิหาร
กุล ปัญญาวงค์ ผู้จัดการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวว่า โครงการไม้หมายเมืองเป็นการปลูกต้นไม้สร้างสิ่งแวดล้อมเมืองที่หายไป เดิมไม้หมายถิ่น ไม้หมายทางขึ้นอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ จะบ่งบอกถึงที่ตั้งของเมืองตามลักษณะภูมิประเทศที่พันธุ์ไม้นั้นขึ้นอยู่เป็นลักษณะเด่น อย่าง ห้วยตึงเฒ่า มีไม้ตุงเป็นไม้หมายเมือง คนโบราณตั้งชื่อตามต้นตึง ไม้ประจำท้องถิ่น รวมถึงเป็นจุดหมายตาคนโบราณ ใช้สังเกตเส้นทางจากเมืองหนึ่งไปอีกเมือง เช่น เส้นจาก ต.สันผีเสือ มายังสะพานสันป่าข่อยใต้ สองข้างทางมีต้นผีเสื้อ ต้นข่อย เป็นไม้หมายทาง แต่ในช่วงหลังจะถูกตัดโค่นออกไปจากการขยายถนนและพัฒนาเมือง ก็พยายามรื้อฟื้นและปลูกใหม่ ปีนี้ปลูกบริเวณแยกเชียงแสนงาม พื้นที่รอยต่อ อ.เมืองเชียงใหม่ และ อ.สารภี จ.ลำพูน เดิมบริเวณนี้ใกล้ชุมชนดอนจั่น มีกระพี้จั่น หรือปี้จั่น เป็นไม้หมายถิ่น ขึ้นเป็นลักษณะเด่น ปัจจุบันไม่เหลือกระพี้จั่นแม้แต่ต้นเดียว จึงปลูกกระพี้จั่นขึ้นใหม่ และปลูกสารภีด้วย เพราะเส้นทางนี้เชื่อมต่อ อ.สารภี ซึ่งมีต้นสารภีเป็นไม้มงคลไม้หมายถิ่น ชื่ออำเภอก็ตั้งตามชื่อต้นไม้ที่ขึ้น แต่สมัยก่อน อ.สารภี มีชื่อเดิม คือ 'ยางเนิ้ง' ก็มาจากต้นยาง ปลูกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วก็ปลูกทองกวาวด้วยเพื่อจะได้มีสีสันข้างทาง เวลาออกดอกเป็นช่อสีแดงส้ม
"การปลูกไม้หมายถิ่นเป็นวิธีกระตุ้นให้คนเมืองเห็นคุณค่าต้นไม้เก่าแก่ ไม้หมายถิ่นที่ยังมีอยู่ ส่วนที่เคยตัดไปแล้วก็รื้อฟื้นปลูกใหม่ ต้นไม้ที่หายไปจะกลับคืนมา ถ้าคนในพื้นที่เห็นต้นไม้ที่เคยอาศัยร่มเงาและต้นไม้ที่ปลูกมากับมือ ปลูกในที่สาธารณะ มีคนตัดเพื่อขยายถนน ขยายเมือง จะตื่นตัวมากขึ้น" กุลยืนยัน
ด้าน สมโชติ อ๋องสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าถึงไม้หมายเมืองในแง่มุมประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจให้ฟังว่า แต่ละเมืองมีต้นไม้ใหญ่เก่าแก่ มีความเชื่อว่ามีเทวดาอารักษ์ต้นไม้นั้น ทำให้แตกต่างจากต้นไม้ทั่วไป ส่วนความผูกพันไม้หมายเมืองกับคนเมืองมีพิธีกรรมบูชาในแต่ละปี เช่น กลางเวียงเชียงใหม่ก็มีต้นยาง ซึ่งมีพิธีบูชาในงานสืบชะตาเมืองเป็นประจำทุกปี หากต้นไม้ที่มีความเชื่อเข้าไปเกี่ยวข้องจะมีคุณค่าขึ้น เห็นได้จากต้นโพธิ์เป็นต้นไม้ที่คนตัดน้อย เพราะมีความสำคัญทางพุทธศาสนาและวัฒนธรรม ฉะนั้น ปลูกต้นไม้อย่างเดียวได้แค่ธรรมชาติ ต้องปลูกวัฒนธรรมในใจคนด้วย
"ต้นไม้เมืองเหนือมีกว่า 880 พันธุ์ ทั้งไม้ต้น ไม้ดอก ถ้าสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ วัฒนธรรมการชื่นชมจะเกิดประโยชน์อีกมาก อย่างเส้นทางโบราณเชียงใหม่-ลำพูน มีต้นยางตลอดสองข้างทาง คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นเส้นทางพระธาตุเสด็จจากสุโขทัยไปยังลำพูนและเชียงใหม่ นอกจากนี้ ยังปลูกสมัยรัชกาลที่ 5 ต้นยางจึงเป็นไม้หมายเมืองลำพูน นำมาสู่การใช้สอยในอดีตเป็นแหล่งน้ำมันยาง ล้วนเกี่ยวข้องวิถีวัฒนธรรม น่าเสียดายความรู้เหล่านี้ไม่อยู่ในระบบโรงเรียน ทำให้ขาดตอน ครูเน้นศัพท์วิทยาศาสตร์ ลักษณะต้น พืชใบ ตอนนี้ 800 กว่าพันธุ์ เรามีความรู้น้อยมาก" นักวิชาการประวัติศาสตร์เน้นย้ำ
สำหรับการอนุรักษ์ไม้หมายเมือง อาจารย์สมโชติเห็นว่า นอกจากชาวบ้าน ชุมชน ที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้แล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเห็นคุณค่าของไม้ท้องถิ่นที่กำลังจะหมดไป พยายามฟื้นไม้หมายถิ่นตามหมู่บ้านให้มากที่สุด อย่าง บ้านดอนปิน บ้านพะยอม กาดพะยอม บ้านกว๋าว บ้านขี้เหล็กหลวง บ้านเสี้ยว บางพื้นที่ยังมีร่องรอยของไม้หมายถิ่นหลงเหลืออยู่ นอกจากนี้ จะเป็นวัดที่มีต้นไม้ใหญ่และไม้หมายถิ่นอยู่มาก แต่ถ้าไม่เชื่อมไปถึงความเชื่อและความสำคัญ ก็น่าวิตกจะถูกเปลี่ยนสภาพ ถือเป็นปราการด่านสุดท้ายของไม้สำคัญ เพราะตามบ้านถูกตัดทำลายหมดแล้ว เวลานี้ตนก็ช่วยเสริมเรื่องราวประวัติศาสตร์ของต้นไม้เมืองเชียงใหม่ผ่านกิจกรรมขี่จักรยานโดยเครือข่ายจักรยานเชียงใหม่ จัดสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เพื่อสร้างวัฒนธรรมการชื่นชมต้นไม้ พะยอมออกดอกเดือนกุมภาฯ เวลาออกดอกหอมมาก ช่วงนี้อินทนิลออกดอกสีม่วงและหางนกยูงสีส้มกำลังบานสะพรั่งทั่วเมือง ก็ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และเห็นความสวยงามของต้นไม้
งานอนุรักษ์ไม้หมายเมืองนั้นเป็นโครงการหนึ่งที่มูลนิธิไทยรักษ์ป่าดำเนินการในเขตเมืองเชียงใหม่ แต่การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร หรือ 'ป่าเมฆ' ก็เป็นอีกงานหนักเช่นกัน กุล ผู้จัดการมูลนิธิคนเดิมระบุทุกวันนี้ป่าเมฆบนยอดดอยอินทนนท์กำลังเสื่อมโทรม ประสบปัญหาจากภาวะโลกร้อน สถานภาพสัตว์ป่าดอยอินทนนท์ก็น่าวิตก นกกินปลีหางยาวเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ อาจจะสูญพันธุ์ได้ รวมถึงสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อย่าง ปาดดอยอินทนนท์ อึ่งกรายดอยอินทนนท์ ปาดตีนเหลืองเหนือ ที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยก็ตายได้
นอกจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ยังมีการขยายพื้นที่ทำกินของชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อย่างบ้านสันดินแดง เป็นหมู่บ้านปกากะญออยู่ใจกลางป่า ทางมูลนิธิฯ ก็ประสานการอนุรักษ์ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับชุมชน มีการกำหนดแนวเขตชัดเจนเพื่อลดการเปิดป่า แล้วก็ลดความหวาดระแวงที่มีต่อกัน สนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านลดใช้สารเคมีเข้มข้น เพราะนี่คือป่าต้นน้ำลำธาร มีการใช้พลังงานจากต้นน้ำ จะทำเป็นหมู่บ้านต้นแบบเพื่อขยายผลในลุ่มน้ำแม่ยะ-แม่ปอน ที่มี 22 หมู่บ้าน ส่วนหมู่บ้านชายขอบป่าก็หนุนงานอนุรักษ์ด้วยเพื่อเป็นกำแพงไม่ให้บุกรุกป่าต้นน้ำ
ผู้จัดการมูลนิธิไทยรักษ์ป่ายังฝากการบ้านสำหรับนักการเมืองที่อาสาจะเข้ามาเป็นรัฐบาลให้เตรียมวางแผนรับมือภัยพิบัติธรรมชาติขนาดใหญ่ให้พร้อม เพราะผลกระทบจากธรรมชาติวิปริตมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น อย่างพายุถล่ม ฝนตกหนัก น้ำท่วม ดินถล่ม มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุดเวลา อย่าง จ.เชียงใหม่ บางพื้นที่ใน อ.แม่แจ่ม ไม่เคยเกิดดินสไลด์ก็เกิดแล้ว ต้องกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ อยากเห็นนโยบายรักษาพื้นที่ป่าไม้และป้องกันการทำลายป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ยึดหลัก 'คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้' แล้วก็ควรระมัดระวังนโยบายที่เร่งรัดการขยายพื้นที่เพาะปลูก โดยไม่วางแผนรอบรับรัดกุม เช่น การขยายพื้นที่ปลูกยางพาราเพิ่ม การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ฯลฯ ต้นเหตุดินสไลด์ เหตุการณ์ดินถล่มภาคใต้เป็นกรณีศึกษาที่ดี ไม่ควรประมาท.

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เส้นตาย12ส.ค.สอบรีสอร์ท-บ้านหรูวังน้ำเขียวรุกที่ป่า



กรมป่าไม้ขีดเส้นตายบ้านพักและ รีสอร์ทหรูกว่า 20 แห่งในวังน้ำเขียวต้องเสร็จก่อนวันที่ 12 ส.ค.จากนั้นวันที่ 13 ส.ค.เดินหน้าแจ้งความดำเนินคดี ด้านเอ็นจีโอแฉมีมากกว่า 20 แห่ง มีนักการเมืองระดับชาติเป็นนายหน้าขายให้กลุ่มธุรกิจ ราคาสูงถึงไร่ละ 2 ล้าน...

จากกรณีบ้านพักและรีสอร์ทหรูในพื้นที่วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มีนายทุนและผู้มีอิทธิพลบุกรุกเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่า ภูหลวง ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่กรมป่าไม้ นายสุเทพ ปวเรศวิทยาฬาร ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) เข้าพบนายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเอกสารหลักฐานการรุกพื้นที่ป่าสงวนในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา มอบให้ นายสุวิทย์

นายสุวิทย์ ให้สัมภาษณ์ว่า เอกสารหลักฐานต่างๆ ที่นำมานี้ เพื่อมาพิสูจน์เชิงวิชาการ โดยมาเปรียบเทียบกับแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของกรมป่าไม้ว่า บ้านพัก และรีสอร์ท กว่า 20 แห่ง บริเวณวังน้ำเขียว รุกพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในพื้นที่รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ต่างตื่นตัว ว่ากรมป่าไม้จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อครหาว่าทำไมกรมป่าไม้ จึงปล่อยให้มีการสร้างบ้านพัก พื้นที่ป่าสงวน หรือไปอยู่บนเชิงเขาซึ่งไม่เหมาะสมและผิดกฎหมาย ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายก็มาตั้งคำถามแบบกรมป่าไม้เช่นกันว่า การที่กรมป่าไม้มาจัดระเบียบบ้านพัก รีสอร์ท และจะดำเนินการตามกฎหมายมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่ ทำไมต้องมาดำเนินการในช่วงที่มีการเปลี่ยนถ่ายอำนาจรัฐบาลเก่าไปสู่รัฐบาลใหม่

"เรื่องการตรวจสอบบ้านพักและรีสอร์ทในพื้นที่วังน้ำเขียวขอแจ้งว่า ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ ทุกอย่างทำด้วยความโปร่งใส บ้านและรีสอร์ทกว่า 20 แห่ง ที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่ารุกพื้นที่ป่าสงวน ต่างถูกร้องเรียนมาที่กรมป่าไม้ โดยส่งข้อความและภาพถ่ายมาทางอีเมล์จำนวนมากก่อนหน้านี้แล้ว กรมป่าไม้จึงต้องเร่งดำเนินการ หากไม่ทำ จะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" นายสุวิทย์ กล่าว

ทั้งนี้ กระบวนการพิสูจน์ว่า บ้านพักและรีสอร์ททั้ง 20 แห่ง ถูกหรือผิดกฎหมาย จะดำเนินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 12 ส.ค.นี้ จากนั้นวันที่ 13 ส.ค. ก็จะลงพื้นที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับทุกหลังที่รุกพื้นที่ป่าสงวน หรือหากรุกที่ ส.ป.ก.ก็ต้องไปพิสูจน์ว่าได้พื้นที่มาได้อย่างไร เพราะแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งของบ้านพักและรีสอร์ท เหล่านั้นเป็นพื้นที่ป่า แล้วเหตุใดจึงออกเอกสารสิทธิ์ได้ ผู้ที่ออกเอกสารสิทธิ์ให้ก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะทำผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน

ด้าน นายเริงชัย ประยูรเวช รองอธิบดีกรมป่าไม้ ซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าทีมในการตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในเขต อ.วังน้ำเขียว คาดว่าจะลงพื้นที่เพื่อดำเนินการได้ประมาณสัปดาห์หน้า แต่ก่อนอื่นจะต้องวางแผนในสำนักงาน โดยเอาแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศออกมากางตรวจสอบกันก่อนว่า พื้นที่ป่าสงวนบริเวณไหน เป็นอย่างไร มีสิทธิประโยชน์อย่างไรบ้าง ตรวจสอบเสร็จวันไหน หากพื้นที่ใดพิสูจน์ได้ว่าครอบครองแบบผิดกฎหมายก็จะตั้งแถวลงปฏิบัติการยึดพื้นที่คืนทันที

ขณะที่นายตะวัน ศรีกานิล เครือข่ายผู้รักษ์เขาใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ในพื้นที่วังน้ำเขียวมีการเคลื่อนไหวกันมาก โดยเฉพาะหน่วยงาน ส.ป.ก.หลังจากที่กรมป่าไม้จะเข้าไปดำเนินการกับบ้านพักและรีสอร์ทที่บุกรุกเข้าไปในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งน่าจะมีมากว่า 20 แห่ง เพราะสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ขณะนี้ตั้งแต่ ต.ระเริง อ.วังน้ำเขียว ที่เป็นข่าวอยู่ ขณะนี้ หรือตั้งแต่บ้านโป่งตาลองหรือหลักกิโลเมตรที่ 23 ถึง 79 ถนนวังน้ำเขียว-เขาแผงม้า-ปากช่อง มีกลุ่มนายทุน นักธุรกิจ นักการเมือง เข้าไปจับจองพื้นที่กันจำนวนมากและแทบจะทุกรายผิดกฎหมายเพราะรุกป่าสงวนทั้งสิ้น มีราคาซื้อขายกันแพงมากตกไร่ละ 2 ล้านบาท และพื้นที่ยิ่งอยู่สูงยิ่งแพง มีนักการเมืองระดับชาติ ทำหน้าที่ซื้อขายที่ดินให้กับกลุ่มธุรกิจการเมือง ทั้งนี้ ในวันที่ 16 ก.ค.นี้ นายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาจะมาหารือกับเครือข่ายผู้รักษ์เขาใหญ่ โดยมีตน นายพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ ศิลปิน นายโชคชัย ปรโลกานนท์ กลุ่มรักษ์เขาแผงม้า เป็นตัวแทนถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่ดังกล่าว

ทรัพยากรดิน


ดินเป็นสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ เกิดจากการสลายตัวผุพังของหินชนิดต่าง ๆ โดยใช้เวลาที่นานมาก หินที่สลายตัวผุกร่อนนี้จะมีขนาดต่าง ๆ กัน เมื่อผสมรวมกับซากพืช ซากสัตว์ น้ำ อากาศ ก็กลายเป็นเนื้อดินซึ่งส่วนประกอบเหล่านี้จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดของดิน

ประโยชน์ของดิน
ดินมีประโยชน์มากมายมหาศาลต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ คือ
1. ประโยชน์ต่อการเกษตรกรรม เพราะดินเป็นต้นกำเนิดของการเกษตรกรรมเป็นแหล่งผลิตอาหารของมนุษย์ ในดินจะมีอินทรียวัตถุและธาตุอาหารรวมทั้งน้ำที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช อาหารที่คนเราบริโภคในทุกวันนี้มาจากการเกษตรกรรมถึง 90%
2. การเลี้ยงสัตว์ ดินเป็นแหล่งอาหารสัตว์ทั้งพวกพืชและหญ้าที่ขึ้นอยู่ ตลอดจนเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์บางชนิด เช่น งู แมลง นาก ฯลฯ
3. เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แผ่นดินเป็นที่ตั้งของเมือง บ้านเรือน ทำให้เกิดวัฒนธรรมและอารยธรรมของชุมชนต่าง ๆ มากมาย
4. เป็นแหล่งเก็บกักน้ำ เนื้อดินจะมีส่วนประกอบสำคัญ ๆ คือ ส่วนที่เป็นของแข็ง ได้แก่ กรวด ทราย ตะกอน และส่วนที่เป็นของเหลว คือ น้ำซึ่งอยู่ในรูปของความชื้นในดินซึ่งถ้ามีอยู่มาก ๆ ก็จะกลายเป็นน้ำซึมอยู่คือน้ำใต้ดิน น้ำเหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมลงที่ต่ำ เช่น แม่น้ำลำคลองทำให้เรามีน้ำใช้ได้ตลอดปี

ชนิดของดิน
อนุภาคของดินจะรวมตัวกันเข้าเกิดเป็นเม็ดดิน อนุภาคเหล่านี้จะมีขนาดไม่เท่ากัน ขนาดเล็กที่สุดคืออนุภาคดินเหนียว อนุภาคขนาดกลางเรียกอนุภาคทรายแป้ง อนุภาคขนาดใหญ่เรียกว่า อนุภาคทรายเนื้อดิน จะมีอนุภาคทั้ง 3 กลุ่มนี้ผสมกันอยู่ในสัดส่วนที่ไม่เท่ากันทำให้เกิดลักษณะของดิน 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ดินเหนียว ดินทราย และดินร่วน

1. ดินเหนียว เป็นดินที่เมื่อเปียกแล้วมีความยืดหยุ่น อาจปั้นเป็นก้อนหรือคลึงเป็นเส้นยาวได้เหนียวเหนอะหนะติดมือ เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศไม่ดี มีความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดี มีความสามารถในการจับยึดและแลกเปลี่ยนธาตุอาหารพืชได้สูง หรือค่อนข้างสูง เป็นดินที่มีก้อนเนื้อละเอียด เพราะมีปริมาณอนุภาคดินเหนียวอยู่มาก เหมาะที่จะใช้ทำนาปลูกข้าวเพราะเก็บน้ำได้นาน
2. ดินทราย เป็นดินที่มีการระบายน้ำและอากาศดีมาก มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เพราะความสามารถในการจับยึดธาตุอาหารพืชมีน้อย พืชที่ชั้นบนดินทรายจึงมักขาดทั้งอาหารและน้ำเป็นดินที่มีเนื้อดินทรายเพราะมีปริมาณอนุภาคทรายมาก
3. ดินร่วน เป็นดินที่มีเนื้อดินค่อนข้างละเอียดนุ่มมือ ยืดหยุ่นได้บ้าง มีการระบายน้ำได้ดีปานกลาง จัดเป็นเนื้อดินที่เหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกในธรรมชาติมักไม่ค่อยพบ แต่จะพบดินที่มีเนื้อดินใกล้เคียงกันมากกว่า
สีของดิน สีของดินจะทำให้เราทราบถึงความอุดมสมบูรณ์ปริมาณอินทรียวัตถุที่ปะปนอยู่และแปรสภาพเป็นฮิวมัสในดิน ทำให้สีของดินต่างกันถ้ามีฮิวมัสน้อยสีจะจางลงมีความอุดมสมบูรณ์น้อย


ลักษณะโครงสร้างที่ดีของดิน ได้แก่ สภาพที่เม็ดดินเกาะกันเป็นก้อนเล็ก ๆ อยู่รวมกันอย่างหลวม ๆ ตลอดชั้นของหน้าดิน





ปัญหาทรัพยากรดิน
ดินส่วนใหญ่ถูกทำลายให้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ หรือตัวเนื้อดินไปเนื่องจากการกระทำของมนุษย์ และการสูญเสียตามธรรมชาติทำให้เราไม่อาจใช้ประโยชน์จากดินได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การสูญเสียดินเกิดได้จาก
1. การกัดเซาะและพังทลายโดยน้ำ น้ำจำนวนมากที่กระทบผิวดินโดยตรงจะกัดเซาะผิวดิน ให้หลุดลอยไปตามน้ำ การสูญเสียบริเวณผิวดินจะเป็นพื้นที่กว้าง หรือถูกกัดเซาะเป็นร่องเล็ก ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความแรง และบริเวณของน้ำที่ไหลบ่าลงมาก
2. การตัดไม้ทำลายป่า การเผาป่า ถางป่าทำให้หน้าดินเปิด และถูกชะล้างได้ง่ายโดยน้ำและลมเมื่อฝนตกลงมา น้ำก็ชะล้างเอาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไปกับน้ำ ทำให้ดินมีคุณภาพเสื่อมลง
3. การเพาะปลูกและเตรียมดินอย่างไม่ถูกวิธี การเตรียมที่ดินทำการเพาะปลูกนั้นถ้าไม่ถูกวิธีก็จะก่อความเสียหายกับดินได้มากตัวอย่างเช่น การไถพรวนขณะดินแห้งทำให้หน้าดินที่สมบูรณ์หลุดลอยไปกับลมได้ หรือการปลูกพืชบางชนิดจะทำให้ดินเสื่อมเร็ว การเผาป่าไม้ หรือตอข้าวในนา จะทำให้ฮิวมัสในดินเสื่อมสลายเกิดผลเสียกับดินมาก


ดินที่เป็นกรด เกษตรกรแก้ไขได้โดยการใช้ปูนขาวหว่าน และไถพรวนให้เข้ากับดิน





การอนุรักษ์ดิน
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการพังทลายหรือการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของหน้าดินนั้น จะทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ติดตามมา เช่น ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ทำให้เกษตรกรต้องซื้อปุ๋ยเคมีมาบำรุงดินเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล ตะกอนดินที่ถูกชะล้างทำให้แม่น้ำและปากแม่น้ำตื้นเขิน ต้องขุดลอกใช้เงินเป็นจำนวนมาก เราจึงควรป้องกันไม่ให้ดินพังทลายหรือเสื่อมโทรมซึ่งสามารถกระทำได้ด้วยการอนุรักษ์ดิน
1. การใช้ที่ดินอย่างถูกต้องเหมาะสม การปลูกพืชควรต้องคำนึงถึงชนิดของพืชที่เหมาะสมกับคุณสมบัติของดิน การปลูกพืชและการไถพรวนตามแนวระดับเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน นอกจากนี้ควรจะสงวนรักษาที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ใช้ในกิจการอื่น ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัย เพราะที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะสมในการเพาะปลูกมีอยู่จำนวนน้อย
2. การปรับปรุงบำรุงดิน การเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน เช่น การใส่ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก การปลูกพืชตะกูลถั่ว การใส่ปูนขาวในดินที่เป็นกรด การแก้ไขพื้นที่ดินเค็มด้วยการระบายน้ำเข้าที่ดิน เป็นต้น
3. การป้องกันการเสื่อมโทรมของดิน ได้แก่ การปลูกพืชคลุมดิน การปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชบังลม การไถพรวนตามแนวระดับ การทำคันดินป้องกันการไหลชะล้างหน้าดิน รวมทั้งการไม่เผาป่าหรือการทำไร่เลื่อนลอย
4. การให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน การระบายน้ำในดินที่มีน้ำขังออกการจัดส่งเข้าสู่ที่ดินและการใช้วัสดุ เช่น หญ้าหรือฟางคลุมหน้าดินจะช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ช้างตรังป่วยเพราะอากาศแล้ง


สัตวแพทย์ร.พ.ช้างลำปาง รุดดูอาการป่วยของช้างที่จ.ตรัง จำนวน 5 เชือก เนื่องจากป่วยเพราะอากาศแล้ง…

เมื่อเวลา 14.00 น. 17 มี.ค.53 นายปองพล หอมคง นายสัตวแพทย์ร.พ.ช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมด้วยนายวัฒนพล พลอยมีค่า สัตวแพทย์สำนักงานปศุสัตว์จ.ตรัง เดินทางไปยังพื้นที่ ม.2 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง เพื่อดูอาการของช้าง จำนวน 4 เชือก ที่ถูกนำไปชักลากไม้ในพื้นที่มาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว ประกอบกับช่วงนี้มีอากาศร้อน ทำให้ช้างป่วยได้ง่าย เนื่องจากร่างกายขาดน้ำ

เมื่อเดินทางไปถึง บรรดาควาญช้างได้นำพลายสันติ อายุ 22 ปี น้ำหนัก 3 ตัน เป็นของนายสมโชค ชูบาล ชาวบ้านในพื้นที่อ.หาดสำราญ ที่ได้มารับจ้างชักลากไม้ในพื้นที่ โดยพลายสันติ ป่วยเป็นโรคพยาธิผิวหนัง ทางสัตวแพทย์จึงได้ฉีดยาถ่ายพยาธิให้จำนวน 1 เข็ม ช้างเชือกที่สองคือ พลายแสนดี อายุ 13 ปี น้ำหนัก 2.2 ตัน เป็นของนายธวัช ไหมสวัสดิ์ อายุ 43 ปี โดยพลายแสนดีมีอาการดีขึ้นตามลำดับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เนื่องจากอากาศร้อน และมีการฉีดยาบำรุงร่างกายพร้อมกับให้วิตามินไปก่อนหน้านี้

ส่วนช้างเชือกที่สามและสี่คือ พังกอบแก้ว อายุ 60 ปี น้ำหนัก 3.2 ตัน และพังเพชร อายุ 38 ปี น้ำหนัก 2.5 ตัน เป็นของนายเพิ่ม เพ็งผอม อายุ 73 ปี สำหรับพังกอบแก้วนั้นได้หยุดลากชักลากไม้มาเป็นเวลาหลายวันแล้ว เนื่องจากที่บริเวณเท้าหน้าด้านซ้าย ถูกไม้แทงจนบวมและเริ่มเป็นหนอง ทำให้ไม่สามารถเดินไปมาได้สะดวกนัก นายปองพลจึงฉีดยาแก้อักเสบให้ 1 เข็ม พร้อมกับยาทำแผล และสั่งพักงานพังกอบแก้วเป็นเวลาหนึ่งเดือน เพื่อให้แผลหายสนิท ส่วนพังเพชร หลังจากที่เกิดอาการขาหลังสองข้างบวมเป็นแผลเนื่องจากชักลากไม้ ก็มีอาการดีขึ้น หลังจากพักงานมาเป็นเวลา 2 เดือน

ทั้งนี้ ช้างเชือกสุดท้ายที่ทีมสัตวแพทย์ไปดูอาการที่บริเวณน้ำตกโตนคลาน ในพื้นที่อ.ห้วยยอด ก็คือ พลายงาดี อายุ 46 ปี น้ำหนัก 3.5 ตัน ซึ่งเป็นของนายวินัย ราชแสง อายุ 44 ปี พบว่าในขณะนี้พลายงาดีมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่กินอาหาร มีอาการตัวบวม ขาไม่มีแรง โดยทางสัตวแพทย์ได้ให้ยาบำรุงแก่พลายงาดีเพิ่มเติม

นายสัตวแพทย์ร.พ.ช้างลำปาง กล่าวว่า ช้างที่อยู่ในภาคใต้ เป็นช้างที่ต้องใช้แรงงานในการลากไม้ช่วงหน้าแล้ง ควาญช้างก็ควรจะดูแลช้างเป็นพิเศษ และลดงานลากไม้ให้น้อยลง เพื่อให้ช้างได้พักผ่อนบ้าง ที่สำคัญควาญช้างต้องเข้าใจ และรู้นิสัยช้างที่ตนเลี้ยงว่าเป็นอย่างไร ในช่วงหน้าแล้งก็ไม่ควรให้ช้างขาดน้ำ เพราะอาจจะทำให้ช้างป่วย หรือเกิดอาการหงุดหงิดได้ง่าย

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผู้ว่าฯพิษณุโลกลงพื้นที่ บุกจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า


วันที่ 01 กรกฎาคม 2553 ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกลงพื้นที่ ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย หลังได้รับรายงานจากชุดเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าของอำเภอนครไทยและอำเภอชาติตระการ บุกจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าได้พร้อมของกลางเป็นไม้มะค่าโมง อายุกว่า 100 ปี

เช้าวันนี้ ( 1 ก.ค. 53 ) นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง ม.26 บ้านโป่งดินดำ ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลกหลังได้รับรายงานจากชุดเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าของอำเภอนครไทยและอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ว่าได้นำเจ้าหน้าที่บุกเข้าจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าได้พร้อมของกลางเป็นไม้มะค่าโมง อายุ 100 ปี ที่ถูกตัดทอนเป็นท่อน ๆ ความยาวท่อนละประมาณ 3 เมตร จำนวน 4 ท่อน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 เมตร พร้อมผู้ต้องหาจำนวน 4 คน

ในที่เกิดเหตุพบ ล่องลอยการโค่นต้นมะค่าโมงอยู่บริเวณเชิงเขา อยู่ห่างจากกองไม้ประมาณ 30 เมตร เป็นตอไม้มะค่าโมง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 เมตร คาดว่าอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี และพบรถยนต์ของกลาง 2 คัน เป็นรถชักลากไม้ยี่ห้ออีซูซุ สีส้ม ทะเบียน 80-2950 พิษณุโลก และรถยนต์ชักลากไม้ อีซูซุ สีเทา ไม่ติดแผ่นป้ายทะเทียน นอกจากนี้ ยังพบรถตราโล่ ยี่ห้ออีซูซุ ทะเบียน ชผ 4112 ของสภ.นครไทย จอดอยู่ในที่เกิดเหตุด้วย พบเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนาย คือพ.ต.ท.วิชาญ ( ภพณครินทร์ ชื่อใหม่ ) ปานทอง รองผกก( ปป.).สภ.นครไทย ภ.จว.พิษณุโลก ที่มาพร้อมกับดต.พร ก๊กพงษ์ ตำรวจสภ.นครไทย บริเวณกระบะรถตราโล่พบเลื่อยยนต์ยี่ห้อสติน 1 ตัว เครื่องเจียร์ไฟฟ้าดัดแปลงเป็นเลื่อยไฟฟ้าอีก 1 ชุด เครื่องปั่นไฟ 1 ชุด แกลลอนน้ำมัน

สำหรับผู้ต้องหาที่จับกุมได้ในที่เกิดเหตุ สามารถจับกุมได้ 4 คน ประกอบด้วย 1.นายทรัพย์ แสงสี อายุ 52 ปี บ้านเลขที่ 23 ม.3 ต.บ้านพร้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก 2.นายชม ขุนขำ อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 185 ม.3 ต.บ้านพร้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก 3.นายสมควร พิณเพชร อายุ 51 ปี ม.1 ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก 4.นายแฉล้ม ปั้นคุ้ย อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 208 ม.3 ต.บ้านพร้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และหลบหนีการจับกุมไป 2 คน ทราบชื่อ นายประยูร อันทะปัญญา อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 331 ม.1 ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก และนายบุญชู จันทร์วิสุทธิ์ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 128 ม.17 ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

การจับกุมกระบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าครั้งนี้ ชุดเฉพาะกิจฯได้สืบทราบจากสายข่าวว่า มีนายทุนจากต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เข้ามาในพื้นที่ม.26 บ้านโป่งดินดำ ต.หนองกะท้าว อ.นครไทย และมาลักลอบตัดต้นมะค่าโมงยักษ์ ที่ต้นใหญ่ที่สุดในพื้นที่นี้ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขากระยาง เวลาประมาณ 02.00น.ของวันที่ 1 กรกฏาคม 2553 นายบุญเลิศ แก้วสะแสน ปลัดอำเภอชาติตระการ นายสุธี ชำนาญกิจ ปลัดอำเภอชาติตระการ นำอส.มาซุ่มจับแก๊งค์มอดไม้ บริเวณแยกหนองน้ำปอ ม.1 ต.ท่าสะแก อ.ชาติตระการ พบว่า มีรถบรรทุก 6 ล้อ อีซูซุสีขาว ขับออกมาจากบ้านโป่งดินดำ ด้านหลังบรรทุกไม้มะค่าโมง 3 ท่อน ความยาวประมาณ 3 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร จึงทำการจับกุม ได้ผู้ต้องหา 2 ราย คือ นายชัยนิวัฒน์ จันทร์มีเทพ อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 100 ม.11 ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ( คนขับรถ ) และนายทองใหม่ อันทะปัญญา อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 331 ม.11 ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ทั้งสองรับว่า มาขนไม้ทะค่าโมง จากบ้านโป่งดินดำ เป็นไม้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่ง จะนำไปส่งที่ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย จ.พิษณุโลก

ต่อมาเวลา 03.00 น.วันเดียวกัน นายเบญจรงค์ บุศรา ปลัดอำเภอนครไทย นายปรีชา แพร่โกสุมปรีชา เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาณงาน ชุดเฉพาะกิจโครงการป้องกันรักษาป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อย นำอส.และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และฝ่ายทหาร และฝ่ายความมั่นคง เดินป่าเข้ามายังจุดลักลอบตัดไม้ พบว่า คนงานตัดไม้ กำลังใช้รถลากไม้ดึงไม้มะค่าโมงที่ตัดเป็นท่อน ๆ จึงเข้าทำการตรวจค้นและจับกุม ได้ผู้ต้องหา 4 คน หลบหนีไป 2 คน และยังพบว่า จุดเกิดเหตุ มีรถตำรวจตราโลห์ จอดอยู่พร้อมเลื่อยยนต์ด้วย โดยพบพ.ต.ท.วิชาญ ปานทอง รองผกก.สภ.นครไทย และดต.พร ก๊กพงษ์ ตำรวจสภ.นครไทย ทั้งสองอ้างว่า เข้ามาจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ขณะที่แนวทางการสืบสวนชุดจับกุมนั้น เนื่องจากผู้ต้องหาที่ขนไม้ออกไป 2 คนแรกนั้น ให้การซัดทอดว่าไม้เป็นของนายตำรวจ จึงต้องดำเนินคดีกับตำรวจทั้งสองนายด้วย

นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมเมื่อคืนที่ผ่านมาแล้ว จึงต้องเดินทางมาในพื้นที่ด้วยตนเอง ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ชุดเฉพาะกิจออกตรวจตราและจับกุมขบวนการตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่อง ครั้งนี้ได้ของกลางและอุปกรณ์การกระทำผิดด้วย การที่มีรถตราโล่ของตำรวจ และมีนายตำรวจระดับสูงของสภ.นครไทย อยู่ในที่เกิดเหตุ พร้อมของกลางเลื่อยยนต์ด้วยนั้น ให้ดำเนินการไปตามกติกาของชุดเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าอย่างเข้มงวด ตนได้แจ้งให้ผบภ.จว.พิษณุโลกและผบช.ภ.6รับทราบแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่นายปรีชา เรืองจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้เดินตรวจของกลาง และตอไม้ที่ถูกโค่นนั้น พ.ต.ท.วิชาญ ( ภพณครินทร์ ชื่อใหม่ ) ปานทอง รองผกก( ปป.).สภ.นครไทย ภ.จว.พิษณุโลกได้เดินติดตามผู้ว่าฯตลอด และรายงานผู้ว่าฯพิษณุโลกว่า ได้รับรายงานจากสายว่ามีการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า จึงนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจสอบ และพบผู้ต้องหากับของกลาง จึงทำการควบคุม พร้อมของอุปกรณ์เลื่อยยนต์ไว้บนรถยนต์ตำรวจ และได้โทรศัพท์รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ระหว่างนั้นก็มีชุดเฉพาะกิจของป่าไม้เข้ามาในพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าฯพิษณุโลกได้บอกกับรองผกก.สภ.นครไทยว่า ให้ดำเนินไปตามกติกา