วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ช้างตรังป่วยเพราะอากาศแล้ง


สัตวแพทย์ร.พ.ช้างลำปาง รุดดูอาการป่วยของช้างที่จ.ตรัง จำนวน 5 เชือก เนื่องจากป่วยเพราะอากาศแล้ง…

เมื่อเวลา 14.00 น. 17 มี.ค.53 นายปองพล หอมคง นายสัตวแพทย์ร.พ.ช้างลำปาง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมด้วยนายวัฒนพล พลอยมีค่า สัตวแพทย์สำนักงานปศุสัตว์จ.ตรัง เดินทางไปยังพื้นที่ ม.2 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง เพื่อดูอาการของช้าง จำนวน 4 เชือก ที่ถูกนำไปชักลากไม้ในพื้นที่มาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว ประกอบกับช่วงนี้มีอากาศร้อน ทำให้ช้างป่วยได้ง่าย เนื่องจากร่างกายขาดน้ำ

เมื่อเดินทางไปถึง บรรดาควาญช้างได้นำพลายสันติ อายุ 22 ปี น้ำหนัก 3 ตัน เป็นของนายสมโชค ชูบาล ชาวบ้านในพื้นที่อ.หาดสำราญ ที่ได้มารับจ้างชักลากไม้ในพื้นที่ โดยพลายสันติ ป่วยเป็นโรคพยาธิผิวหนัง ทางสัตวแพทย์จึงได้ฉีดยาถ่ายพยาธิให้จำนวน 1 เข็ม ช้างเชือกที่สองคือ พลายแสนดี อายุ 13 ปี น้ำหนัก 2.2 ตัน เป็นของนายธวัช ไหมสวัสดิ์ อายุ 43 ปี โดยพลายแสนดีมีอาการดีขึ้นตามลำดับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร เนื่องจากอากาศร้อน และมีการฉีดยาบำรุงร่างกายพร้อมกับให้วิตามินไปก่อนหน้านี้

ส่วนช้างเชือกที่สามและสี่คือ พังกอบแก้ว อายุ 60 ปี น้ำหนัก 3.2 ตัน และพังเพชร อายุ 38 ปี น้ำหนัก 2.5 ตัน เป็นของนายเพิ่ม เพ็งผอม อายุ 73 ปี สำหรับพังกอบแก้วนั้นได้หยุดลากชักลากไม้มาเป็นเวลาหลายวันแล้ว เนื่องจากที่บริเวณเท้าหน้าด้านซ้าย ถูกไม้แทงจนบวมและเริ่มเป็นหนอง ทำให้ไม่สามารถเดินไปมาได้สะดวกนัก นายปองพลจึงฉีดยาแก้อักเสบให้ 1 เข็ม พร้อมกับยาทำแผล และสั่งพักงานพังกอบแก้วเป็นเวลาหนึ่งเดือน เพื่อให้แผลหายสนิท ส่วนพังเพชร หลังจากที่เกิดอาการขาหลังสองข้างบวมเป็นแผลเนื่องจากชักลากไม้ ก็มีอาการดีขึ้น หลังจากพักงานมาเป็นเวลา 2 เดือน

ทั้งนี้ ช้างเชือกสุดท้ายที่ทีมสัตวแพทย์ไปดูอาการที่บริเวณน้ำตกโตนคลาน ในพื้นที่อ.ห้วยยอด ก็คือ พลายงาดี อายุ 46 ปี น้ำหนัก 3.5 ตัน ซึ่งเป็นของนายวินัย ราชแสง อายุ 44 ปี พบว่าในขณะนี้พลายงาดีมีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่กินอาหาร มีอาการตัวบวม ขาไม่มีแรง โดยทางสัตวแพทย์ได้ให้ยาบำรุงแก่พลายงาดีเพิ่มเติม

นายสัตวแพทย์ร.พ.ช้างลำปาง กล่าวว่า ช้างที่อยู่ในภาคใต้ เป็นช้างที่ต้องใช้แรงงานในการลากไม้ช่วงหน้าแล้ง ควาญช้างก็ควรจะดูแลช้างเป็นพิเศษ และลดงานลากไม้ให้น้อยลง เพื่อให้ช้างได้พักผ่อนบ้าง ที่สำคัญควาญช้างต้องเข้าใจ และรู้นิสัยช้างที่ตนเลี้ยงว่าเป็นอย่างไร ในช่วงหน้าแล้งก็ไม่ควรให้ช้างขาดน้ำ เพราะอาจจะทำให้ช้างป่วย หรือเกิดอาการหงุดหงิดได้ง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น